ในฐานะที่ผมเดินทางแบกเป้มาเองสี่ปีแล้ว ก็มีคำแนะนำดังนี้ครับ (อิงจากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ)
1. ถามตัวเองก่อนว่า อยากไปไหน?
สถานที่สำคัญมากครับ เพราะมันจะตามมาด้วยเงื่อนไขตัวอื่นๆ ประเทศในแถบเอเชียเราค่อนข้างเที่ยวง่ายมากครับ ยิ่งถ้าได้ภาษาอังกฤษ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล พอเราเลือกสถานที่ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ
2. เช็คดูว่าต้องขอวีซ่าหรือไม่?
หรือประเทศฟรีวีซ่า อยู่ได้กี่วัน ข้อนี้สำคัญมากนะครับ อย่างพม่า ถ้าไปโดยเครื่องบิน เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว อยู่ได้ไม่เกิน14 วัน แต่ถ้าเข้าประเทศเขาผ่านช่องทางอื่น ก็ต้องทำวีซ่าอยู่ ขั้นตอนการขอวีซ่าก็ไม่ยากครับ ให้เข้าเว็บสถานทูตแต่ละประเทศที่อยากไป เขาจะมีรายละเอียดบอกว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง อย่างเช่น ถ้าจะไปจีน ก็เข้าไปเช็คได้เลยครับ ผมว่าประเทศจีนนี่เปลี่ยนแปลงเงื่นอไขบ่อยสุดแล้ว แต่ก็ขอได้ง่ายครับ แค่เอกสารจุกจิก
3. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม
หลายคนเน้นไปเที่ยวเพราะ “ตั๋วถูก” อย่าครับอย่า ตั๋วถูกบางทีกลายเป็นแพงนะครับ เช่น ถูกเพราะเป็นหน้ามรสุม ไปถึงแล้ว นอนแหง็กที่โรงแรม ก็ไม่ไหวครับเหมือนย้ายที่นอนเฉยๆ ไม่ฟิน ไม่เอา ไปทั้งทีต้องได้เห็นในสิ่งที่สมควรเห็น เทคนิคในการตรวจสอบก็ Google นี่แหละครับ ปกติผมก็จะค้นหาประมาณว่า the best time to travel XXX ก็จะมีข้อมูลโผล่มาเต็มไปหมดครับ ทั้งพวกสภาพอากาศแต่ละเดือน ช่วงเวลาที่สวยๆ เราก็เลือกช่วงที่คิดว่า เวลาเราได้ครับ
อ้าว แล้วถ้าเวลาเราไม่ได้ละ? อันนี้ก็ต้องยอมเสี่ยงดวงดูครับ แฮะๆ เพราะถ้าผมแนะนำว่าให้ไปที่อื่นแทน มันก็ดูไม่เมคเซนส์เนาะ
4. หาตั๋วถูกๆ ได้อย่างไรดี?
เมื่อก่อนนั่งเช็คกันตามเว็บหลายเว็บ เดี๋ยวนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยเยอะมากครับๆ เว็บดีๆ ก็เว็บนี้เลย google.com/flights/?curr=THB มีตารางราคาตั๋วบินถูกให้เห็นกันแบบจะๆ แต่มันก็ไม่รวมราคาของบางสายการบินนะครับ ถ้าบินในเอเชีย อีกเว็บที่ผมเอาไว้เช็คราคาก็คือเว็บนี้ครับ http://www.airpaz.com/en/ เว็บนี้ไว้เช็คราคาสายการบินโลวคอส และอีกเว็บก็ expedia.com ครับ
อ้อ บางเว็บมีขายแพจเกจ ตั๋วพร้อมที่พัก ซึ่งก็อาจจะถูกกว่าจองแยกนะครับ อย่างของสายการบินแอร์เอเชีย ก็จะขายร่วมกับ tune hotel หรือกับ expedia.comเทคนิคในการจองพร้อมโรงแรมแล้วได้บินฟรี อะไรแบบนี้ผมจะเลือกโรงแรมแค่คืนเดียวครับ (เลือกว่า ฉันต้องการพักบางส่วน) เพราะวันที่เหลือเราไปหาโรงแรมอื่นๆเองได้
5. จองโรงแรม แบบไหนถึงจะดี?
โรงแรมก็เป็นอีกหัวข้อ ที่อยากบอกคนเพิ่งเริ่มแบกเป้ว่า “อย่าเห็นแก่ของถูก” อย่างเดียวครับ บางอย่างมันถูกเพราะมันเถื่อน (แต่ไม่ใช่ว่าถูกและดีไม่มีอยูจริงๆนะครับ) เทคนิคในการเลือกโรงแรมที่ผมอยากแนะนำคือ ดูว่าสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เราอยู่โซนไหน แล้วก็เลือกโรงแรมที่เดินทางไปสะดวกครับ เวลาเราค้นหาในเว็บไซต์จองโรงแรม มันจะมีให้เรียงลำดับตาม “ราคา” หรือ “คะแนนผู้เข้าพัก” ส่วนมากผมก็จะเลือกจากคะแนนผู้เข้าพักครับ บางที่คะแนนรีวิวดีมาก แต่ราคาแบบไม่แพงเลยก็มี แล้วอีกอย่างก็คือ อ่านรีวิวโรงแรมนั้นเยอะๆครับ จะได้ตัดสินใจได้ง่าย ส่วนมากคนท่ไปพักก็จะริวกันตรงๆ ว่าดีไม่ดีอย่างไร
มีเคสเคยเกิดขึ้นตอนผมพักที่ซีอาน ตอนนั้นผมพักโฮสเทลครับ ผมก็นั่งอยู่ห้องโถงของโฮสเทล นั่งเมาท์กับเพื่อนที่โฮสเทล ก็มีเสียงคนเคาะประตูห้องพัก เป็นนักท่องเที่ยวจีน มาถามว่านี่ใช่โรงแรม XXX ไหม ปรากฎว่าไม่ใช่ครับ นักท่องเที่ยวคนนั้นก็ตกใจ เพราะจองโรงแรมผ่านเว็บอะไรสักอย่างที่ราคาถูกมหาถูกมาก (แต่โดนหลอก ใช้ชื่อที่อยู่โรงแรมอื่นไปแอบอ้าง และสร้างคะแนนรีวิวปลอมๆมาหลอกอีก)
เว็บไซต์ที่ผมแนะนำคือเว็บ Booking.com ครับ เพราะบอกราคารวมตั้งแต่ต้น โดยส่วนตัวผมไม่ชอบเว็บที่ต้องคลิกนั่นคลิกนี่ถึงจะเห็นราคาสุทธิ ผมว่าเสียเวลา แต่เว็บBooking.com ทำหน้าที่ได้ดี และสามารถจองก่อน แล้วค่อยไปจ่ายตอนไปถึงที่พักก็ได้ มีอีกเว็บที่หลายคนนิยม แต่ผมไม่ชอบคือ Agoda.com ครับ ผมว่าเว็บนี้ราคาตั้งต้น ดูโหดเกินความจริง ผมเคยถามคนที่โรงแรมที่ผมไปพักว่าราคาก่อนลดคือราคานี่จริงป่ะ เค้าก็ส่ายหัวนะครับ บอกว่าราคาที่ขายก็เท่าๆกับราคาหลังลดนั่นแหละ ผมเลยรู้สึกว่าเค้าไม่แฟร์กับลูกค้า ฮ่าๆ (ผมไม่ได้ดิสเครดิตนะครับ เพราะเมื่อก่อนผมก็ใช้บริการเค้าเหมือนกัน)
อีกเว็บที่แนะนำก็ Hostelworld.com ครับ สำหรับคนอยากนอนห้องพักแบบรวม เพราะประหยัดเงิน พวกโฮสเทลหลายแห่งได้เปรียบเรื่องทำเลครับ ถ้าทำใจได้ว่า อาจจะเจอรูมเมทนอนกรน เท้าเหม็น (อันนี้คิดในแง่ร้ายสุดๆไว้ก่อน) ก็ลองพักดูได้ครับ ส่วนมาก โฮสเทล จะเป็นวัยรุ่น ไปที่นี่จะได้เพื่อนเยอะครับ และโฮสเทลหลายที่ก็จะมีห้องส่วนตัวด้วย เลือกกันได้ว่าอยากพักแบบไหนครับ
ถ้าไปเที่ยวจีน แนะนำแอพนี้ครับ ctrip มีเวอร์ชั่นภาษาอักฤษ ดีงามสุดๆ โรงแรมเยอะกว่าเว็บด้านบนอีกครับ แถมเช็คสายการบิน รถไฟ ก็ได้ด้วย
6. อ่านรีวิวเก็บข้อมูลสถานที่จะไป
ส่วนมากที่ที่เราอยากไป คนอื่นเค้าก็เคยไปกันมาแล้วครับ หลายคนก็จะกลับมารีวิวบอกว่า ไปอย่างไร หรือถ้าไม่มี ก็ Google ได้ครับ ใช้ภาษาอังกฤษก็ได้ ดูว่าจากโรงแรม ไปยังที่เที่ยวต้องนั่งรถอะไร สายไหน ถ้าคุณไม่ใช่สายท่องเที่ยวแบบ ผจญภัยเอาดาบหน้า แนะนำให้ทำการบ้านไปดีๆครับ อย่างนอ้ยก็ให้รู้ว่าคร่าวๆแล้ว มันไปยังไงได้บ้าง จะได้ไม่เสียเวลาหลงอยู่กลางทาง
เซฟรูปลงในมือถือ ไอแพด อะไรไว้ด้วยก็ดีครับ จะได้ไว้ถามคนแถวนั้น ช่วยได้เยอะ มีแอพหนึ่งที่มีประโยชน์มาก คือ Pocket ครับ แอพนี้สามารถโหลดหน้าเว้บมาอ่านออฟไลน์ได้ ผมใช้ตอนไปเที่ยวจีน โอย อยากจะกราบคนพัฒนาแอพนี้ เพราะจีนเข้า Google ไม่ได้ ผมก็บันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นไว้ในแอพ เปิดอ่านตอนไม่มีเน็ต ชิลครับ
7. ภาษาไม่ได้ ยิ่งต้องทำการบ้าน
ภาษาอังกฤษไม่กระดิก แต่อยากแบกเป้เองได้ก็ไม่ใช่ปัญหาครับ แต่เราต้องรู้จักวางแผน เตรียมแอพแปลภาษา Google Translate หรือ เซพรูปภาพสถานที่ท่องเที่ยว “พร้อมชื่อสถานที่ในภาษานั้นๆ” เช่น ชื่อวัดนั้นในภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ชื่อคำเรียกห้องน้ำ (อันนี้โคตรสำคัญ ผมเคยเจอมา ปวดฉี่มาก ถามคนจีนว่า Where is the toilet? คนจีนทำหน้างง สุดท้ายเลยต้องทำท่าฉี่ให้ดู เค้าถึงเข้าใจ) อย่าไปเซฟแค่ชื่อภาษาอังกฤษนะครับ บางทีคนพื่นที่เรียกไม่เหมือนเรา เช่น ไปสุสานจิ๋นซี ภาษาอังกฤษคือ The terracotta warriors แต่คนจีนเรียก “ปิงหมาหย่ง” เห็นมะครับ คนละเร่องเลย หรือแม้แต่ชื่อโรงแรม ก็ให้เอาแบบภาษาบ้านเค้าไปด้วยครับ
8. เงิน!!!!! ดูให้ดีว่าประเทศนั้นใช้แบบไหน
บางคนคิดแต่ว่าแลกเงินดอลไปก็เป็นอันใช้ได้ โน!! คุณคิดผิดครับ บางประเทศมีเง่อนไขในการรับเงินจากนักท่องเที่ยวแบบจุกจิกมาก เช่นประเทศพม่า เงินดอลล่า ห้ามมีรอยพับ ห้ามเป็นแบงค์เก่า ห้ามเป็นเงินในซีรีส์บางอย่าง (ตัวอักษรบนธนบัตร) ประเทศอินโดก็เช่นเดียวกัน
ถ้าแลกเงินดอนลาร์ไป ผมแนะนำว่าให้แลกเป็นแบงค์ใหญ่ก่อนครับ เพราะถ้ามันเหลือก็จะได้เอามาแลกคืนได้แบบไม่เสียเปรียบมากนัก
ส่วนการแลกเงินดอลเป็นเงินท้องถิ่น แล้วแต่ประเทศนะครับ บางที่ที่สนามบินเรทดีกว่า บางที่ในเมืองดีกว่า ต้องดูข้อมูลเชิงลึกของแต่ละที่ แต่จากประสบการณ์ที่เจอ ส่วนมาก เรทสนามบินจะแพงกว่าเรทข้างนอกครับ แต่ถ้าไปพม่า แลกจากสนามบินไปเลยครับ หาที่แลกเงินที่อื่นยากมาก (ณ ตอนที่ผมไป ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าหาง่ายหรือยัง) หรือถ้าไปจีน ก็แลกเงินหยวนไปเลยครับ ไม่ต้องแลกเป็นเงินดอล ประเทศ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน แนะนำว่าให้แลกเป็นเงินเค้าไปเลย ดีกว่า
9. ยา ต้องเตรียมพร้อม
เราไม่รู้หรอกครับว่า เราไปถึงแล้วเราจะกินอาหารเค้าแล้วจะท้องเสียไหม หรือจะเป็นหวัด หรือบลาๆ ดังนั้นต้องเตรียมยาบางอย่างไปด้วย เช่น ยาแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แต่ก็ดูด้วยนะครับว่า ยาที่เอาไปบางตัวเค้าห้ามเอาเข้าประเทศหรือเปล่า
10. อาหารต่างประเทศ อาจจะไม่เหมาะกับเรา
บางคนกินอาหารประเทศเค้าไม่ได้เลย!! ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะรสนิยมการทานอาหารไม่เหมอืนกัน อย่างผมก็ไม่ชอบอาหารพม่า เพราะมันมันมาก มีแต่น้ำมัน แต่โชคดีที่พม่ายังพอมีร้านอาหารจีน อะไรแบบนี้ด้วย ก็เลยฝากท้องไว้กับอาหารจีนเสียส่วนใหญ่ ข้อแนะนำคือ ให้เตรียมอาหารบางส่วนไปด้วยครับ ข้อนี้แค่กรณีบางคนกินอาหารแบบไม่ไหวแล้วจริงๆ เพราะเอาจริงๆ ผมก็อยากเชียร์ให้ลองสัมผัสอาหารบ้านเค้าดู ฮ่าๆ อย่างตอนผมไปบาหลีครั้งแรก สามวันแรก กินไม่ได้เลยครับ รสชาติประหลาดมาก แต่พอวันที่สี่ นี่กินแถมหลายจานมาก
อีกอย่างคือ อย่าเห็นแก่ของถูก กรุณาดูความสะอาดด้วยครับ อาหารทำร้ายคนมามากต่อมากแล้ว เพราะบางที่ขายถูก แต่กรรมวิธีในการผลิตไม่ไหวเลย เช่น ตั้งอยู่ในที่ไม่สะอาด อันนี้เพื่อนเคยเจอครับ ท้องเสียระหว่างทริป
11. ฟิตร่างกายให้พร้อม
บางที่เราต้องเดินเยอะมาก และต้องมีสุขภาพแข็งแรงหน่อย ก็ออกกำลังกายเยอะๆครับ เช่น ถ้าไปปีนเขาหัวซาน ก็ต้องแข็งแรงระดับหนึ่ง หรือจะไปภูเขาหิมะมังกรหยก ก็ต้องเตรียมพร้อมว่าจะเดินในที่สูงมากๆๆๆๆๆ ก็ต้องระวังเรื่องโรคความสูง
12. ถ้าเดินเยอะ แนะนำให้เตรียมรองเท้าสำหรับเดินโดยเฉพาะ
มันแพงครับรองเท้าเฉพาะทาง แต่มันเลอค่ามาก ผมจำได้ตอนไปจิ่วไจ้โกว ใส่ผ้าใบปกติ เท้าเหมือนเล็บจะหลุดครับ เพราะเดินทรหดมาก หิมะก็หนา มันกันไม่ได้เลย แต่พอเปลี่ยนเป็นรองเท้าเดิน วิ่ง โอ้โห ทิรปไหนๆก็สบายครับ ผมว่าพวกนี้คุ้มแก่การลงทุน เพราะเค้าก็ดีไซน์สวยนะครับ เอามาใส่เที่ยววันหยุดก็ยังได้
13. ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเค้า
แต่ละที่มีข้อห้ามต่างกัน ต้องดูด้วยครับ บางอย่างไปเผลอทำ แล้วอาจจะไม่ดีก็ได้ เราก็ไม่ชอบนักท่องเที่ยวไม่ดี เค้าก็เหมือนกันครับ อย่าไปเอะอะโวยวาย แบบไม่แคร์สื่อ เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศตัวเอง ไม่ใช่นะครับ มารยาททางสังคม คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆครับผม
14. อย่าประมาท
ไปเที่ยวแล้วอย่าเลินเล่อ ผาดโผนมากไป ไม่ต้องอยากได้ภาพเซลฟี่อวดเพื่อนในเฟส ในอินสตาแกรม จนไม่ดูตาม้าตาเรือนะครับ ตอนอยู่บาหลี มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ครับ ถ่ายภาพเซลฟี่ ที่หน้าผา ข้างหลังเป็นทะเลสีน้ำเงินสวยมาก พี่ท่านก็เอาแต่เดินถอยหลัง ดูแต่จอมือถือเซลฟี่ แล้วเป็นไงครับ ตกหน้าผา!!! ใช่ครับ ตายตรงนั้นแหละ ไม่คุ้มเอาเสียเลย
15. ประกันการเดินทาง
ผมว่าสำคัญนะ อีกอย่างมันไม่ได้แพงด้วย แค่หลักร้อยบาท ทำได้ก็ทำไปเหอะครับ ถ้าไม่เป็นไร ก็คิดซะว่าซื้อความสบายใจ แต่ถ้าเป็นไรในต่างประเทศขึ้นมา แล้วไม่มีประกันมันจะซวย พวกประกันอย่างน้อยก็ช่วยเราได้ครับ มีหลายเจ้าให้เลือกครับ
หลักๆที่อยากแนะนำก็ประมาณนี้ครับ แต่ถ้าเรื่องอื่นๆ ก็ถามกันเป็นเคสบายเคสได้นะครับผม