เที่ยวเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สัมผัสเมืองเพชรแห่งพุทธศาสนา

June 7, 2018
Scroll Down

เมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด” เป็นอะไรที่เหนือการคาดหมายมากครับ จากความตั้งใจไปดูงานบุญบั้งไฟ กลายเป็นว่าได้เห็นสิ่งที่เลอค่าไม่แพ้กัน นั่นคือบรรดาโบราณสถาน ศิลปะล้านช้างบ้างขอมบาง ละลานตาไปหมดเลยครับ

และนี่คือเรื่องเล่าการเดินทาง “ร้อยเอ็ด สัมผัสเมืองเพชรแห่งพระพุทธศาสนา” เมืองที่ผมว่าใครที่ชอบศิลปะวัฒนธรรมจะหลงรักได้ไม่ยากเลย

แม้ว่าผมจะเป็นลูกอีสาน แต่ผมเกิดในแถบอีสานใต้ ชาติพันธุ์เขมร วัฒนธรรมจึงแหวกแนวจากอีสาน ลาวเสียส่วนใหญ่ อย่างเช่น หมอลำ โปงลาง บั้งไฟ บ้านผมก็ไม่ได้มีให้เห็นสัก เท่าไหร่ ถ้าเพลงก็จะเป็นกันตรึม เจรียง เสียมากกว่า ดังนั้นการไปชมงานบุญบั้งไฟ จึงเป็นอะไรที่ผมเองก็อยากรู้ เพราะผมไม่เคยดูมาก่อนครับ

ด้วยความที่ผมออกเดินทางไปยังจังหวัดร้อยเอ็ดล่วงหน้า เพราะผมอยากไปเห็นว่าเค้ามีวิธีการเตรียมตัวอย่างไร ผมจึงได้มีโอกาสเที่ยวโซนอื่นๆด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นวัดวาอาราม และนั่นจึงเป็นที่มาของทริปนี้ครับ “เที่ยวงานบุญบั้งไฟเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ก่อนหน้าที่ผมจะมาที่นี่ผมจ ินตนาการไว้ว่าจะได้เห็นการ จุดบั้งไฟขึ้นไปบนฟ้า อย่างที่เคยเห็นผ่านคลิปต่า งๆ แต่พอมาถึงปรากฎว่าที่แห่งนี้จะเน้นการ “แห่บั้งไฟ” ครับ

เรียกว่าการ “เอ้บั้งไฟ” ผมก็สงสัยสิครับ เอ้ แปลว่าอะไรครับ? คนท้องถิ่นก็บอกว่าแปลว่ากา รประดับ ดังนั้นบั้งไฟที่นี่จึงเน้น การประดับสวยงามมากๆ อย่างกะไปชมงานแห่เทียนพรรษ าเลยครับ บั้งไฟแต่ละอันก็ใหญ่มาก แถมเครื่องประดับที่ไมว่าจะ เป็นรูปปราสาทเอย เทพพนม พรหม อินทร์ ทั้งหลาย ก็ล้วนแต่ถูกนำมาแสดงอย่างจัดเต็ม ให้ดูกันตาแฉะ

เอาละครับ มาอ่านบันทึกการเดินทางของผมกันเนาะ สำหรับประวัติบางอย่าง ผมได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจากคนท้องถิ่นที่มาช่วยอธิบายรายละเอียดและประวัติความเป็นมาให้ผมได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นในแฟนเพจของผมครับ ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับผม

อย่างแรกเลยครับที่ผมภูมิใจ อยากจะเล่ามากๆ ก็คือ ที่เมืองสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดเนี่ย มีสถาปัตยกรรมโบราณมากๆ อายุหลายร้อยปีอยู่เต็มไปหมดเลยครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ผมทึ่งมากๆ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจะมีวัดเก่าแก่ ปราสาทเก่าแก่มากมายขนาดนี้  ยกตัวอย่างวัดนี้ครับเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแนวจำปาศั กดิ์ ศิลปะล้านช้าง และข้างในก็มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังหรือที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” อยู่เต็มไปทั้งผนัง ซึ่งก็เลือนลางไปตามกาลเวลา  แต่นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเมืองนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไรบ้าง

สถานที่: วัดสระเกตุ ตำบลน้ำคำ

จากที่ผมมาอยู่นี่ สิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือชาว เมืองสุวรรณภูมิจะภูมิใจกับ บ้านเกิดของตัวเองมากครับ เค้าเล่าให้ผมฟังว่าเมืองร้อยเอ็ดนั้นแต่ก่อนก็คือเมืองสุวรรณภูมิมาก่อนครับ ก่อนจะถูกลดระดับให้เป็นส่วนหนึ่งของร้อยเอ็ด มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ลองจินตนาการดูว่า ส่วนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษก็แตกตัวมาจากเมืองนี้ครับ

ผมได้มีโอกาสเข้าไปฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาของเมืองนี้ ก็ประกอบไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีของคนในประวัติศาสตร์ ก็เลยทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมคนที่นี่ถึงดูภูมิใจมากจริงๆ เพราะพวกเขาผูกพันกับบรรพบุรุษของพวกเค้ากันมาก

และเนื่องด้วยจากที่ผมฟังมานั้น ชาวลาวได้อพยพเข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อสร้างเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีพวกปราสาทขอมอยู่แล้ว ทำให้ชาวเมืองใช้ปราสาทเหล่านั้นมาเป็นที่ทำพิธีกรรมร่วมกับความเชื่อและศิลปะของตัวเอง จึงทำให้เราเห็นว่าที่วัดต่างๆมีศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างขอมกับล้านช้าง

สถานที่ : วัดไตรภูมิคณาจารย์

สิมโบราณครับ ตั้งอยู่ในวัดที่ประดิษฐสถานพระคู่บ้านคู่เมืองของคนเมืองนี้ ซึ่งจะเอาออกมาให้ประชาชนได้ร่วมสักการะแค่ตอนสงกรานต์ ครับผม แต่ผมก็โชคดี ได้เห็นองค์พระด้วย เพราะหลวงพี่ท่านเมตตาพาไปชมครับ

ส่วนภาพด้านบนก็เป็นสิมเก่า แก่มากๆ ข้างในก็จะปิดไว้ครับ ถ้าจะดูข้างในต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งหลวงพี่ก็ใจดีอีกแล้ว เปิดให้ผมได้ไปเห็นศิลปะภาพวาดข้างใน ยอมรับเลยว่า อื้อหือ มีเสน่ห์มากๆ

หลวงพี่เล่าให้ฟังว่า เพราะสมัยก่อน คนชอบคอยจะขโมยของเก่า จึงทำให้ต้องมีการระวังไว้

สิมนี้ตั้งอยู่ที่ วัดไตรภูมิ​คณาจารย์​ วัดนี้เคยสำคัญ​มากๆและยังสำคัญ​มากๆอยู่​ครับ​ เป็นที่จำพรรษา​ ของหลวงปู่หลักคำ​ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่​เล่าให้ฟังว่า​ หลวงปู่หลักคำเป็นที่เคารพสักการะ​ ของพี่น้องสองฝั่งโขง​ ตำแหน่ง​ของหลวงปู่​ท่านเทียบเท่าองค์​สังฆราชของลุ่มน้ำโขงก็ว่าได้ครับ​

และองค์​พระแก้วนี้​ เคยถูกขโมยมาแล้วหลายรอบ​ แต่ทุกครั้งที่ถูกขโมยก็จะมีปาฏิหาริย์​เกิดขึ้นเสมอ​ เช่น​ ล่าสุด​ มีชายหนุ่มมาขโมยองค์​พระ​แก้ว​ แต่หาทางออกจากวัดไม่เจอ​ คิดว่าตัวเองเดินออกมาไกลลับตาผู้คน… สุดท้าย​ มีพระ​ เณร​ นั่งมองดูโจรผู้นั้น​ อุ้มพระเดินรอบศาลาการเปรียญ​ทั้งคืนจนสว่าง​ ก็ยังหาทางออกจากวัดไม่ได้ครับ โอ้โห อัศจรรย์มากๆ

และนี่คือฮูปแต้มภายในสิมครับ ภาพเลือนลางไปหน่อย แต่ก็สามารถใช้ตาเพ่งดีๆก็จะมองเห็นภาพได้ครับ

หลวงพี่ที่พาผมเข้าไปชมบอกว่า ภาพวาดที่นี่วาดโดยช่างสิบหมู่ครับ เพราะสังเกตดูว่าลายเส้นจะ แตกต่างจากฮูปแต้มที่อื่น ดูมีความเป็นไทยกลางอยู่เยอะกว่า

สถานที่: วัดใต้วิไลธรรม

เห็นไหมครับ ลวดลาย ลายเส้นของฮูปแต้ม อันนี้อยู่ที่วัดใต้ ครับ ลายเส้นจะออกไปทางฝั่งลาวมากกว่าเมื่อเทียบกับภาพวาดด้านบน ซึ่งภาพวาดนี้อยู่ที่ วัดใต้วิไลธรรม วัด 1 ใน 4 วัด ที่สร้างขึ้น ในคราย้ายเมืองท่งศรีภูมิ มายังดงเท้าสาร ในปี 2315 และ ได้พัทสีมา ในปี 2319

ในวันนี้ก็ได้น้องชาวสุวรรณภูมิ เดินทางไปเที่ยวด้วยครับ ที่วัดนี้ผมจำได้ดีเลย เพราะผมถูก “ผึ้งต่อย” จ้า ต่อยสามจุด คือ คอ แขนซ้าย และ แขนขวา เนื่องมาจากมันมีรังผึ้งอยู่แถวๆประตู แต่ผมมองไม่เห็น เลยเดินเข้าไปถ่ายภาพฮูปแต้ม ทีนี้ก็โดนผึ้งมาต่อยเอา โชคดีมากที่ไม่แพ้พิษ จริงๆคือ ไม่รู้สึกอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ 555 นี่คิดอยู่ว่า เราบาปจนเข้าวัดไม่ได้เลยเรอะ ฮ่าๆๆ เอาเป็นว่าใครไปวัดนี้ก็ระวังผึ้งนะครับ ผึ้งวัดนี้ดุ!

สถานที่: วัดกลางมิ่งมงคล

เมืองสุวรรณภูมิมีสีประจำเมืองคือ เหลือง กับแดงเลือดหมูครับ ดังนั้นวัดเอย ศิลปะเอย มักจะใช้สีนี้ครับ เรียกได้ว่า เห็นวัดสีนี้จนเลี่ยนไปเลย โน่นก็เหลืองแดง นี่ก็เหลืองแดง นั่นก็เหลืองแดง ไม่ไหวแล้ววววว ฮ่าๆๆ วัดนี้คือวัดกลางมิ่งมงคลครับ ประดับด้านหน้าด้วยสิงห์คู่ สวยงามสุดๆ

วัดหลายที่ออกแบบได้สวยมากครับ และหลายที่ก็ใช้ลวดลายเหมือนกันมาก จนผมต้องจำเอาว่า วัดนี้ต่างกันตรงสิงโตอยู่หน้าวัด ส่วนอีกวัดเป็นพญานาค

ที่วัดแห่งนี้มีพระธาตุของพระโมคคัลลานะ ด้วยนะครับ ซึ่งผมเองก็งงแฮะ ปกติเจอแต่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แต่ที่นี่ของอัครสาวก ซึ่งพี่ผมก็เล่าให้ฟังว่ามันมาจากตำนานที่ยุคนั้นพญานาคพ่นพิษ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงนึกถึงพระโมคคัลลานะ แล้วก็หาย อะไรทำนองนี้ครับ

นี่ครับผม พระธาตุที่ว่า ใครมาแล้วก็สามารถเข้าไปสักการะได้ครับ

วัดนี้ใช้ลาย “ศรีภูมิ” มาเป็นลายประดับวัดครับ พี่ผมเล่าให้ฟังว่า ลายศรีภูมิเป็นลายที่ใช้ในการประดับบั้งไฟ เป็นลายโบราณมากๆ ใช้กรรไกรตัดลาย (ที่อื่นจะใช้สิ่วตัด) ทำให้ลายมีความต่อเนื่อง ไม่ขาดออกจากกัน และถือว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของที่นี่ ชาวเมืองก็ภูมิใจนำเสนอมากๆ ก่อนหน้านี้ลายนี้เกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลาแล้วนะครับ โชคดีที่คนที่ทำเป็นได้พยายามสืบสานต่อให้ลูกหลานได้รู้จักและตัดลายพวกนี้

สถานที่: วัดบ้านเปลือยใหญ่ไทยเจริญ ตำบลช้างเผือก

วัดที่เมืองสุวรรณภูมิหลายวัดได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมโบราณด้วยนะครับ ผมว่านะ ใครที่ชอบเที่ยวเชิงศิลปะพื้นบ้าน ชอบประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน อย่างผมเองก็เพลิดเพลินกับการชมศิลปะแบบล้านช้างมากเช่นกัน

พี่ผมพาผมขับรถออกไปนอกเมืองหน่อย เพื่อพาไปชมวัดอื่นๆอีก ซึ่งวัดในภาพด้านบนเป็นวัดที่ผมว่าสวยมากที่สุด ชื่อว่าวัดบ้านเปลือยใหญ่ไทยเจริญ อยู่ที่ตำบลช้างเผือก  วัดนี้นับเป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุด ของเมืองศรีภูมิ

ลักษณะเด่นของวัดนี้คือศิลปะในวัดเป็น ขอม ล้านช้าง สยาม ประกอบกันอยู่ครับ ส่วนตัวอาคารเห็นพี่บอกว่าออกแบบโดยช่างชาวเวียดนาม แนะนำว่าให้มาช่วงเย็นๆ จะเก็บภาพได้สวยมากๆ เพราะมีบันไดนาคยาวมากๆล้อม รอบวัดเลยคับ

วัดนี้​ เมื่อ​ก่อน.. จะมีแค่กำแพงแก้วเตี้ยๆล้อมรอบตัวอาคาร​ และมียักษ์​ทวารบาล​ ยืนให้การปกป้องสิ่งชั่วร้ายมิให้เข้าใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์​ภายในสิมหลังนี้​ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง​ กลับมองว่าเป็นสิ่งไม่สวยงาม… แต่พอมาถึงยุคนี้​ ชาวบ้านได้ร่วมใจกัน​ สร้างเป็นระเบียงคตล้อมรอบเสียเลย​ แทบไม่เห็นอาคารประธานด้านในครับ

วัดนี้มีนอกจากมีครบสามสายสกุลช่างแล้ว ความ​พิเศษ​อย่างหนึ่งคือ​ ปูน​ ที่ใช้ฉาบ​ ก่อ​ และขึ้นโครง ไม่ใช่ปูนซีเมนต์​ธรรมดา​ แต่เป็นปูนที่ทำตามแบบโบราณ​แท้จริง​ๆและยังคงอยู่​จนปัจจุบัน  ปูนที่ใช้ทำสิม​หลังนี้​ ใช้หินฟอสซิล​ จากใจกลางทุ่งกุลาร้องไห้​ ที่เป็นสุสานหอยล้านปี​ ที่คนที่นี่รู้จักกันในนาม​ “ขี้นกอินทรีย์” มีในตำนานกำเนิดทุ่งกุลาร้องไห้​ คนสมัยนั้นเอาเกวียนเทียมวัวไปลากมาจากใจกลางทุ่งกุลา​ร้องไห้​ เอามาเผาแล้วแช่น้ำไว้​ จนซากฟอสซิลหอยล้านปี​ละลายเป็นผงปูน​ จึงเอามาผสมกับยางบง​ และน้ำอ้อย​ ยางของต้นบง​ เป็นไม้ตระกูลยางนา​ แต่น้ำยางไม่เหนียวข้นมาก​ แต่เมื่อมาผสมกับผงปูนที่ได้จากการเผาฟอสซิลแล้ว​ เนื้อปูนจะเป็นสีขาวสวย​ ทนทาน​ และยืดหยุ่นสูง​ ไม่แตกร้าว อายุ​ 200​ กว่าปีแล้วยังสวยงามตามที่เห็นครับ​

และนอกเหนือจากนี้  วัดนี้ยังพิเศษ​ตรงที่​อุโบสถ​หลังใหญ่กว่าวัดอื่นๆ​ ก็เพราะว่า​ สิมหรืออุโบสถ​ของชาวอีสานล้านช้างจะทำหลังเล็ก​ เนื่องจาก​ ในการประกอบพิธีกรรม​จะใช้พระไม่กี่รูป​ อุโบสถ​เลยไม่ต้องการความกว้างใหญ่​ เพราะอนุญาต​ให้แค่พระผู้ใหญ่​ และผู้เกี่ยวข้อง​ขึ้นอุโบสถ​เท่านั้น​ ไม่ให้ญาติพี่น้อง​ประชาชน​ทั่วไปขึ้นได้​ ไม่ใช่ว่าจน​ หรือทำหลังใหญ่ไม่เป็นครับผม  แต่อุโบสถ​หลังนี้​ บอกได้เลยว่า​ ใหญ่กว่าทุกๆที่ที่เป็นอุโบสถ​โบราณ​มากๆครับ

ด้านหน้ามีการทำใหม่ครับ ใช้รูปปั้นแนวขอมมาประดับ

สถานที่: วัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด)

วัดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นครับ คือมาที่นี่วัดมันเยอะมาก

ข้างในวัดนี้ก็มีฮูปแต้มสไตล์ชาวลาวอีกเช่นเคยครับ สีสันยังสดใสอยู่ มองเห็นเรื่องราวตามตำนานของคนแถวนี้

Highlight : งานแห่บุญบั้งไฟสุดยิ่งใหญ่ประจำปี

จากนั้นมาก็มาถึงไฮไลท์ของทริปนี้ครับ คือการมาชมบั้งไฟกัน ซึ่งขบวนแห่นั้นยิ่งใหญ่มาก มีทั้งหมด 18 ขบวนที่เป็นบั้งไฟประดับสวยๆ คนร่วมแสดงในงานแห่ราวสามสี่พันคนเลยคับ ยอมรับเลยว่าเค้าทำได้ย่ิงใหญ่จริงๆ

ผมดูจนจบทั้ง 18 ขบวนด้วยนะครับ ขอชื่นชมว่างานนี้ไม่มีวัยรุ่นตีกันด้วย 55 ปกติมักจะเจอวัยรุ่นยกพวกตีกันตามงานต่างๆ งานนี้ต้องยกมือให้ว่าผู้มีส่วนร่วมแม้กระทังผู้เข้าร่วมงานต่างก็ช่วยกันสร้างสีสันและบรรยากาศให้นักท่องเที่ยวอย่างผมประทับใจสุดๆ

ขบวนแห่มีการประกวดด้วยนะครับ โดยมีการประกวดบั้งไฟประดับ และขบวนฟ้อนรำ โดยขบวนฟ้อนรำก็จะมีการเล่นดนตรีสดๆ ร้องเพลงกันสดๆ โอ้ย ม่วนหลายครับ

บั้งไฟที่เห็นใหญ่ๆนี้ มันสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยครับ! หัวพญานาคขยับโยกไปมา แถมยังพ่นน้ำใส่คนชม

นาคที่นี่มีหูด้วยนะครับ มีคุณลุงท่านนึงบอกผมว่า ตามตำนานผาแดงนางไอ่ พญานาคใช้หูฟังว่าสองคนนี้อยู๋ที่ไหน เพื่อที่จะได้มุดดินตามไป แต่บางคนก็บอกว่ามันเป็นปีก ผมก็ไม่รู้จะเชื่อคนไหนเหมือนกัน

ประดับประดาสวยงามากๆเลยครับ เห็นแล้วทึ่งไปเลย

เครื่องประดับบั้งไฟแต่ละขบวนก็จัดหนักจัดเต็มกันทั้งนั้น ผมนั่งดูจนตาแฉะครับ มันยิ่งใหญ่มาก ย่ิงใหญ่รู้สึกเลี่ยน เข้าใจความรู้สึกผมไหมคับ? คือมันเยอะ เยอะ เยอะ เยอะะะะะะะะ เยอะจนแบบไม่ไหวแล้วพ่อจ๋าแม่จ๋า ละลานตาไปหมดเลย 555

ขบวนปราสาทครับ ตอนแรกผมก็นึกว่าเค้าจะจุดบั้งไฟพวกนี้ขึ้นไปครับ ก็งงว่าจะจุดแล้วไม่เสียดาย เหรอ พี่ผมบอกว่า บักสน มันจุดไม่ได้ อันนี้เค้าเอาไว้แห่โว้ย 555

ตำนานเรื่องบั้งไฟนั้นมีสอง เรื่องคับ หนึ่งคือเรื่องผาแดงนางไอ่ กับสองเรื่องพญาแถนกับคางคก  ในภาพนี้บั้งไฟนำมาจากเรื่อ งผาแดงนางไอ่ เพราะพญานาคจะมีอก และหูด้วย (บางคนบอกว่าปีก)

เสียงกลอง เสียงพิน เสียงนักร้อง พร้อมทั้งขบวนคนรำ ล้วนแต่ช่วยสร้างสีสันให้กั บงานนี้เป็นอย่างมาก แต่ละขบวนก็งัดทีเด็ดมาแสดง กันสุดฤทธิ์ ทีมนี้ก็ถึงกับต่อตัวตีกลอง ครับ

เหยียบกันเต็มเท้าเลยครับ ฮ่าๆ แต่ผมก็เห็นว่าตอนคนตีลงจากหลังแล้วเค้าก็ยกมือไหว้ขอขบคุณคนทั้งคู่ด้วย ดีครับ เห็นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี

ขบวนนางรำของแต่ละชุมชนครับ  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นน้องๆที่เรียนด้านนาฏศิลป์ครับ พาเพื่อนๆมาช่วยรำฟ้อนให้กับหมู่บ้านตัวเอง

ฟ้อนรำกันทั้งหมดสามจุดครับ  ผมอยู่ตรงจุดที่ก่อนจะถึงกองอำนวยการ เห็นพี่บอกว่าที่กองอำนวยการ น้องๆจะจัดเต็มกันมากกว่านี้

ผมนั่งดูตั้งแต่ขบวนแรกจนสิ้นขบวนสุดท้าย จนในหัวได้ยินแต่ทำนอง โอละโอ้ ละโอละโอ้ ไปแล้วคับ 555

ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ผู้ร่วมขบวนก็ไม่ยี่หระครับ  ยืนกันทนแดนทนฝนกันขนาดนี้เ ลย เห็นแล้วนับถือในสปิริต

แต่ละชุมชนก็จะมีขบวนผาแดงนางไอ่

แล้วคนนี้แต่งเป็นอะไรครับ? ฮ่าๆ

ทีมนี้ได้รางวัลชนะเลิศการฟ้อนรำด้วยครับ ซึ่งก็สวยจริงๆอะไรจริง

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำในฐานะคนดูนะครับ คือหลายทีมนะที่รำสวย แต่นักแสดงไม่แสดงสีหน้าที่ บ่งบอกถึงความสุข คนดูก็ไม่สนุกไปด้วย แต่อย่างทีมนี้ นักแสดงร้องกรีสๆๆๆ วีดว้าย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสกันถ้วนหน้า คนดูก็พลอยสนุกไปด้วยยิ่งขึ้น

คนรำสนุก คนดูก็สนุกครับผม

ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ดูมีความสุขกันมาก ก่อนวันเริ่มงานผมมีโอกาสได้ไปชมการเตรียมตัวของบางชุม ชน พี่ๆทุกท่านต่างภูมิใจนำเสน อมาก อย่างตอนแรกก็มีการห่อบั้งไ ฟเก็บแล้วนะคับ แต่พอผมไปถึงพี่ๆก็ถึงกับคลี่ผ้าออกให้ผมได้เห็นบั้งไฟ ที่เค้าเตรียมไว้

บั้งไฟของที่นี่มันแปลกว่าที่อื่นอย่างไร? ก็ตรงที่ที่แห่งนี้ยังคงอนุรักษ์กันไว้ และยังช่วยกันทำแบบจริงๆจัง ๆด้วยครับ เห็นแล้วชื่นใจมากๆ

ชอบน้องคนนี้ครับ ยิ้มตลอดการแสดง มือไม้ก็อ่อนด้วยครับ รำสวยเลย . อย่างที่ผมพูดไปครับว่า สีหน้าก็ไม่แพ้ท่ารำ ถ้ารำสวยแต่หน้าไม่บ่งบอกถึ งอารมณ์สนุกมันก็ไม่สนุก น้องคนนี้เห็นแล้วผมรู้สึกสนุกไปด้วย

น้องคนนี้ก็เป็นอีกคนที่หน้ าตายิ้มแย้มตลอดเวลา

น้องคนนี้มีคนมาขอถ่ายภาพด้วยเยอะมาก ผมก็ไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร นะครับ แต่ก็ถ่ายภาพเก็บไว้ด้วยเช่นกัน มารู้ทีหลังว่าเป็นพระเอกหมอลำครับ

แต่ถ้าถามผมนะครับว่า ผมประทับใจการแสดงของทีมไหน มากที่สุด ผมยกให้ทีมนี้ครับ คือทีมนี้ใช้นักแสดงเป็นคนในชุมชนครับ ตั้งแต่เด็กตัวน้อยๆยันผู้เฒ่าผู้แก่ แน่นอนว่ามันก็ไม่เป๊ะหรอก แต่มันสื่อถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชน ดูน่ารักดีครับ

สถานที่ : กู่พระโกนา

เสร็จจากงานบั้งไฟแล้ว วันสุดท้ายผมเดินทางไปยังกู่พระโกนาครับ กู่สมัยยุคปาปวน อายุ 900 กว่าปี ที่ยังมีทับหลัง มีของเก่าให้เห็นอยู่

สิ่งที่น่าเสียใจคืออะไรรู้ ไหมครับ? ความโลภของคนครับ ที่อยากจะเข้ามาขโมยของโบรา ณ ทำให้หลายๆที่ในเมืองนี้พากันเอาของเก่าไปซ่อนไว้ ไม่ก็ใส่เหล็กดัด อย่างผมสายตาสั้นแล้วลืมเอ แว่นไปก็จ้องตาแทบถนนถึงจะมองเห็นครับ โอ้ยสงสารตัวเอง

ในภาพคือลูกกลีบขนุน​ กลีบขุน​ คือส่วนประกอบเรือนยอดของส่วนปราสาท​ ที่เป็นศิลปะนิยมของขอม​ จะทำเป็นปราสาทจำลองบ้าง, ทำเป็นเทพประจำทิศบ้าง​ ทำเป็นรูปเทวรูป​บ้าง​ แล้วแต่ตำแหน่งที่ตั้งในแต่ละชั้น….

ลวดลายแกะสลักเสาหินของกู่นี้ครับ

พญานาคสไตล์ขอม

พญานาคสไตล์ลาว

ซุ้มประตูก็สวยงามมากครับ

ผมสังเกตเห็นว่ามีการประดับด้วยกระจกด้วยครับ ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นของขอม และก็จริงอย่างว่า เพราะคนในท้องถิ่นมาอธิบายเพิ่มเติมว่า การประดับกระจก​ คืองานศิลปกรรม​ของชาวลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในภายหลัง​ซึ่งเริ่มทำเมื่อราวปีพุทธศักราช​ 2400 กว่าๆนี่เองครับ  ไม่ใช่การผสมผสาน​ แต่เป็นการทำแบบว่า​ จะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์​ก็ไม่ผิดครับ คือชาวลาวสมัยก่อน​ คงจะเห็นซากปรักหักพัง​แล้วคิดว่าเป็นวัดร้างของเขมร​ คงคิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์​ก็เท่านั้น​ จึงใช้โครงปราสาทเดิม​ แต่ฉาบทับด้วยปูน​ ปั้นพระพุทธ​รูป​ ประดับกระจกเสียเลย  ประมาณ​นี้​ครับ​

เมืองสุวรรณภูมิ เมืองที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีโบราณสถานเยอะมากมายขนาดนี้ ดีใจมากๆที่ได้มาเยี่ยมชมครับ

สถาปัตยกรรมที่มีทั้งลาวทั้งขอมอยู่ด้วยกัน ก็มีเสน่ห์ดีครับ เสียดายที่บางจุดมีสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่แจมอยู่ด้วยในพื้นที่เลยดูขัดตาไปนิด

สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณรุ่นพี่ของผมที่อาสาพาเที่ยวบ้านเกิด ขอบคุณพี่ๆทุกท่านที่คอยดูแลตลอดการเดินทาง ผมประทับใจมากครับ เรื่องสถานที่นั้นผมชอบอยู่ แล้วเพราะชอบศิลปะ แต่ที่ประทับใจยิ่งกว่าคืออ ะไรรู้ไหมครับ? ผมประทับใจในความ “พยายาม” ของคนในชุมชน ที่พวกเขาพยายามช่วยกัน “รักษาประเพณี” และ “ของดี” ที่พวกเขามีไว้ให้ลูกหลานได้เห็น ซึ่งในยุคปัจจุบันมันก็ต้องอาศัยความพยายามมากเลยนะ

ผมได้ไปสัมผัสทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของการจัดงานบุญบั้งไฟ แต่ละคนอิดโรยกันมาก มีปัญหาเฉพาะหน้ากันถ้วนทั่ว แต่พวกเขาก็ชวยเหลือกันดีมากๆ

ในยุคที่เงินสามารถซื้อนั่นนี่ได้ แต่ข้อเสียของมันก็คือถ้าเร าเอาแต่ซื้อ จนลืมไปว่าเราเองก็ทำได้ และสุดท้าย ทักษะที่เรามีนั้นกลับสูญหายไป มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแย่เลย” นี่คือคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ท่านมาเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับประวัติลายศรีภูมิลายบั้งไฟเอกลักษณ์ของเมือง

ขอบคุณที่ทำให้ผมได้เห็นว่า  วิถีอีสานมันม่วนซื่นอีหลี

ฮักหลายครับเมืองร้อยเอ็ด

EN / FR

© Copyright BackpackStory.com.

Close